จุลินทรีย์ใหม่"สร้างปุ๋ยในดิน
ปัจจุบันเกษตรอินทรีย์กลายเป็นกระแส และเป็นทางเลือกของการเกษตรทั่วโลก รวมทั้งไทยที่กำลังขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ และแม้เราจะขับเคลื่อนมานาน แต่ก็ยังไม่ได้รับกระแสขานรับที่ดี ปัจจัยหลักอยู่ที่ราคาสารเคมีเกษตรพุ่งขึ้นจนเกินขีดความสามารถของเกษตรกร ทำให้หลายรายหันไปหาเกษตรอินทรีย์ที่ต้นทุนต่ำกว่า ไม่มีพิษภัยต่อตัวเองและผู้บริโภค หน่วยงานหลักในการฟื้นฟูดินก็คือกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งพบว่าสภาพดินที่ใช้สารเคมีได้รับผลกระทบมาก เพราะมีส่วนสำคัญในการทำลายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน "งานใหญ่ของกรมคือเฟ้นหาจุลินทรีย์ในดินที่มีความสามารถย่อยสลายซากพืช เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน รวมถึงฮอร์โมนที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ซึ่งกรมได้เริ่มโครงการและประสบความสำเร็จ ปี 2529 พบจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายซากพืชได้ดี และแปรจุลินทรีย์ในรูปสารเร่งพด.1 ซึ่งเป็นฐานสำคัญในเวลาต่อมาในการเฟ้นหาจุลินทรีย์ที่หลากหลาย" ไม่เพียงแต่กลุ่มเกษตรกรนำผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.ประเภทต่างๆ มาใช้ประโยชน์เท่านั้น แต่ยังต่อยอดขยายสู่ชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย ขยะในครัวเรือน ขณะที่ภาคเอกชนไม่น้อย เริ่มหันมาสนใจงานวิจัยจุลินทรีย์เพื่อนำไปปรับใช้ในธุรกิจของตน กรมยังมีเป้าหมายใช้จุลินทรีย์สร้างโรงปุ๋ยหรือธาตุอาหารในดินโดยตรง โดยกำลังวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่ ที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยปมรากถั่วอีกต่อไป เท่ากับเป็นการสร้างโรงปุ๋ยขึ้นในดินนั่นเอง ทั้งนี้ ปัจจุบันการเพิ่มธาตุอาหารในดินกระทำโดยใช้จุลินทรีย์ไปย่อยสลายซากพืช หรือไม่ก็ปลูกพืชตระกูลถั่วที่ตรึงไนโตรเจนได้ แล้วไถกลบกระบวนการวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่เริ่มบ้างแล้ว โดยคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีความสามารถดึงไนโตรเจนได้เอง จากนั้นใช้กระบวนการฟิวชั่น (Fusion) หรือใช้เซลล์ของจุลินทรีย์ผนวกด้วยกัน เพื่อสร้างจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่ และคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติตามต้องการ เช่นเดียวกับฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมที่มีอยู่ในดินแล้ว แต่ไม่สามารถปลดปล่อยให้พืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้ ก็ต้องพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อมาใช้ในการนี้ด้วย ถ้าธาตุอาหารหลักในดินที่จุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่สร้างได้ครบ ทั้งไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปแตสเซียม (K) ก็เท่ากับเรามีโรงงานสร้างปุ๋ยในดินโดยตรง ซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยอย่างมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น