วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

ขยะล้นเมือง : ปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข



ขยะล้นเมือง : ปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข
รองศาสตราจารย์บัญญัติ สุขศรีงาม
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา

ขยะเป็นของเหลือที่แต่ละคนไม่ต้องการใช้และต้องการทิ้งไป ในแต่ละวันจะมีขยะเป็นจำนวนมาก เพราะแต่ละคนช่วยกันสร้างขยะขึ้นมามากกว่าวันละ 1 กิโลกรัม แต่การกำจัดขยะจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานเพียงไม่กี่แห่ง เช่น เทศบาล สุขาภิบาล ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถกำจัดขยะได้หมด เป็นผลให้มีขยะตกค้างตามแหล่งต่างๆ มากมาย ขยะจึงกลายเป็นปัญหาสำคัญทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นปัญหาระดับโลกขึ้นมาแล้ว เพราะประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็กำลังเผชิญปัญหาขยะเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ขยะตามเมืองต่างๆ ทั่วโลกมีประมาณ 720,000 ล้านตันต่อปี ร้อยละ 50 ของขยะเหล่านี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและขยะส่วนมากในประเทศพัฒนาจะอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ขยะจำนวนมหาศาลจะถูกเก็บรวบรวมและนำไปกองทิ้งไว้บนดินโดยมิได้กำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นผลให้สิ่งที่ปนเปื้อนในขยะ เช่น เชื้อโรค โลหะหนัก สารเคมีที่เป็นอันตราย ฯลฯ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000,000 คน จากโรคที่มีสาเหตุมาจากระบบการกำจัดขยะที่ไม่ดีพอ ทำให้ปัญหาขยะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน
     ประเทศไทยก็มีปัญหาขยะเช่นเดียวกันและปัญหานี้มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน
ทั่วประเทศมีขยะวันละประมาณ 40,000 ตัน (40,000,000 กิโลกรัม) หรือปีละ 14,000,000 ตัน (14,000,000,000 กิโลกรัม) และมีแนวโน้มวาปริมาณขยะจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการกำจัดขยะเหล่านี้และไม่สามารถกำจัดได้หมด ทำให้มีขยะเหลือตกค้างอยู่ทั่วไป
     ประเทศไทยมีเทศบาลทั่วประเทศประมาณ 1,130 แห่ง แต่มีเทศบาลเพียง 95 แห่งเท่านั้นที่มีพื้นที่
กำจัดขยะ เทศบาลอีก 36 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่กำจัดขยะและที่ก่อสร้างเสร็จแล้วก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ในส่วนของขยะอุตสาหกรรมทั้งประเทศมีประมาณปีละ 13,800,000 ตัน (13,800,000,000 กิโลกรัม) ในจำนวนนี้เป็นขยะอันตรายประมาณ 1,240,000 ตัน (1,240,000,000 กิโลกรัม) ขยะอันตรายเหล่านี้ไม่สามารถกำจัดให้หมดได้ในแต่ละปี และจะมีขยะอันตรายที่หายไปโดยไม่ถูกกำจัดปีละประมาณ 300,000 ตัน (300,000,000 กิโลกรัม) ซึ่งสาเหตุมาจากอัตราค่ากำจัดขยะอันตรายที่แพงเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบหรือไร้คุณธรรม ได้นำขยะอันตรายไปลักลอบทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าขยะอุตสาหกรรมจากต่างประเทศในรูปของขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย กล่าวคือ ได้มีการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้วเพื่อนำมาแกะชิ้นส่วนบางอย่างไว้ใช้ประโยชน์ต่อไปและส่วนที่ใช้ไม่ได้ก็กลายเป็นขยะอันตราย 
    ในแต่ละปีจะมีขยะอุตสาหกรรมจากต่างประเทศเข้ามามากถึง 100,000 ตัน (100,000,000 กิโลกรัม) ทำให้มีขยะอันตรายเพิ่มขึ้นจำนวนมากด้วย แม้ว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมจะมีกฎหมายควบคุมห้ามนำเข้าขยะอันตรายจากต่างประเทศอยู่แล้วก็ตาม แต่กฎหมายมิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าขยะประเภทใดเป็นขยะอันตราย จึงไม่สามารถควบคุมการนำเข้าขยะอุตสาหกรรมได้เท่าที่ควร
   สำหรับกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นเมืองที่มีปัญหาการกำจัดขยะมากที่สุด ในแต่ละวันจะมีขยะประมาณ 9,200 ตัน (9,200,000 กิโลกรัม) และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเป็นวันละ 15,000 ตัน (15,000,000 กิโลกรัม) ทำให้กรุงเทพมหานครต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการกำจัดขยะ
ปีละ 2,000 ล้านบาท ในขณะที่เก็บค่าธรรมเนียมขยะได้เพียงปีละ 72 ล้านบาท เพราะกฎหมายกำหนด
ค่าธรรมเนียมขยะเอาไว้เพียงบ้านละ 20 บาทเท่านั้น ทำให้งบประมาณของกรุงเทพมหานครจำนวนหนึ่งต้องสูญเสียไปกับการกำจัดขยะดังกล่าว
  จากการศึกษาข้อมูลแผนการกำจัดขยะของประเทศพบว่าไม่มีนโยบายและแผนงานที่ชัดเจนในการจัดการกับปัญหาขยะ การทำงานของหน่วยงานที่เก็บขยะ (เช่น กรุงเทพมหานครหรือเทศบาล) ก็ทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำและมุ่งกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบขยะซึ่งต้องการใช้พื้นที่ในการดำเนินการ ทำให้มีปัญหาการหาพื้นที่ที่จะใช้ฝังกลบ ขยะและปัญหานี้ได้กลายเป็นความขัดแย้งของประชาชนอีกด้วย เพราะประชาชนในแต่ละพื้นที่ก็ไม่ต้องการให้พื้นที่ของตนเป็นที่ฝังกลบขยะ เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น กลิ่นเน่าเหม็นหรืออันตรายจากขยะ ฯลฯ 
   ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายเรื่องขยะที่เป็นแผนดำเนินการในภาพรวมทั้งประเทศ เพราะปัญหาการกำจัดขยะเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนจึงควรจะมีหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแลการจัดการโดยเฉพาะ เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้รัฐบาลควรพิจารณาลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบธุรกิจการรีไซเคิลขยะหรือการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (ซึ่งขณะนี้เก็บภาษีธุรกิจเหล่านี้ร้อยละ 7) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการนำขยะกลับมาใช้ใหม่จะได้เป็นการลดปริมาณขยะให้น้อยลงและช่วยแก้ปัญหาการกำจัดขยะอีกด้วย
        อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหาขยะในสังคมไทยจะเป็นปัญหาอีกยาวนาน คงไม่สามารถแก้ไขได้
ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่เนื่องจากเราทุกคนเป็นผู้ก่อให้เกิดขยะจึงต้องมีส่วนร่วมแก้ไขด้วย ประชาชนทุกคน
ต้องพยายามช่วยกันทำให้ขยะน้อยลงโดยพยายามใช้สิ่งต่างๆ ให้คุ้มค่ามากที่สุด เช่น พยายามใช้กระดาษทั้งสองหน้า กระดาษที่ใช้แล้วไม่ควรทิ้งเป็นขยะแต่ควรเก็บรวบรวมไว้ขายให้กับซาเล้งหรือผู้ที่รับซื้อของเก่าเพื่อนำไปขายให้กับโรงงานรีไซเคิลต่อไป ทุกคนต้องพยายามยึดหลักการรีไซเคิลขยะให้มากที่สุด เพื่อเป็นการแยกขยะบางประเภท เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก ฯลฯ ออกจากขยะอื่นๆ เพราะขยะเหล่านี้สามารถนำไปรีไซเคิลได้อีก การรีไซเคิลจะช่วยลดปริมาณขยะและช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย เช่น การรีไซเคิลขวดเครื่องดื่มจำนวน 1 ขวด จะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เท่ากับการชมโทรทัศน์ได้1 ชั่วโมง 30 นาที การรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมจะช่วยประหยัดพลังงานความร้อนได้ 20 เท่าและช่วยลดมลพิษของอากาศได้ร้อยละ 95 เป็นต้น
  เนื่องจากขยะเป็นปัญหาสำคัญของมนุษยชาติ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติจะได้เข้ามาเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองด้วยการกำหนดให้มีโครงการวันรณรงค์เพื่อโลกสะอาด (Clean up the World) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2536
เพื่อเชิญชวนให้ทุกประเทศได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับขยะในชุมชนของตน ทำให้ทุกคนได้เกิดความตระหนักถึงปัญหาขยะที่มีผลกระทบต่อสุขภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขยะด้วย
   ขยะเป็นปัญหาของสังคม ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือแก้ไขด้วยการลดการทำให้เกิดขยะให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็สามารถแก้ปัญหาขยะล้นเมืองได้อย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น