แนวทางการทำไร่นาสวนผสมตามแนวพระราชดำริ
เน้นหาข้าวหาปลาก่อนหาเงินหาทอง คือ ทำมาหากินก่อนทำมาค้าขาย
โดยการส่งเสริม :
1. การทำไร่นาสวนผสมและเกษตรผสมสาน เพื่อความหลายกิจกรรมทั้งการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และ ประมง แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชอาหารหลักของคนไทย
2. การปลูกไม้ผลสวนหลังบ้าน และไม้ใช้สอยในครัวเรือน
3. การปลูกพืชสมุนไพรช่วยส่งเสริมสุขภาพอนามัย
4. การปลูกพืชผักสวนครัวลดค่าใช้จ่าย
5. การปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพื่อความสวยงามพักผ่อนจิตใจและเสริมรายได้
6. การเลี้ยงปลาในร่องสวน ในนาข้าว และแหล่งน้ำ เพื่อเป็นอาหารโปรตีนและรายได้เสริม
7. การเลี้ยงไก่พื้นเมือง และเป็ดประมาณ 10 – 15 ตัว / ครัวเรือน เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนโดยใช้เศษอาหาร รำ และปลายข้าว จากผลผลิตการทำนา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากการปลูกพืชไร่ เป็นต้น
8. การเพาะเห็ดจากวัสดุเหลือใช้ในฟาร์ม
9. การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และใช้วัสดุเหลือใช้เป็นปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย) เพื่อลดต้นทุนการผลิต และปรับปรุงบำรุงดินพร้อมทั้งรักษาสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การผลิตพืชผักให้ปลอดภัยจากสารพิษ
จากกระแสความต้องการของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปโดยหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ทีการเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้มีการรณรงค์ ให้เกษตรกรผลิตพืช อาหารต่างๆ ให้ปลอดภัยจากสารพิษอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
การผลิตพืชผักให้ปลอดภัยจากสารพิษ มีหลายทางเลือกให้ดำเนินการดังนี้
การผลิตพืชผักปลอดสารพิษ คือ การผลิตพืชผักโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เช่น การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ หรือ การผลิตแบบเกษตรธรรมชาติ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นขั้นสุดยอดของระบบเกษตรที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการจัดระบบการปลูกพืชให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ
การผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ คือ การผลิตพืชผักที่มีการใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็น ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ยังมีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินปริมาณค่าความปลอดภัย MRL (Maximum Residue Limit) ซึ่งมีหลายวิธีดังนี้
การผลิตโดยใช้หลักการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) โดยนำหลักการควบคุมศัตรูพืชต่างๆมาใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ของศัตรูพืชเพื่ออยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตและทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม
การผลิตพืชผักอนามัย คือการผลิตพืชผักที่มีการใช้สารเคมีแต่ไม่เกินปริมาณค่า MRL ผลผลิตมีความสะอาดซึ่งผ่านกรรมวิธีการปฏิบัติก่อนและหลังเก็บเกี่ยวตลอดจนการขนส่งและการบรรจุหีบห่อได้คุณภาพมาตรฐาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น