นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กันยายน 2552
สำหรับประเทศที่ยังมองเห็นเศษซากอินทรียสารเป็นของไร้ค่าเหม็นเน่าน่ารังเกียจ ขยะก็ย่อมเป็นตมปัญหาที่ต้องกำจัด แต่ประเทศใดที่มองเห็นซากเน่าเหม็นเป็นพลังงานหรือเป็นปุ๋ยชีวภาพ ขยะอินทรีย์ก็กลายเป็น "ขยะหอม" ที่ส่งกลิ่นยั่วยวนด้วยรายได้เป็นกอบเป็นกำได้เหมือนกัน
หลายคนรู้ดีว่า อินทรียสารในขยะชีวภาพสามารถนำไปแปรเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า และปุ๋ยหมักได้ แต่มีเพียงขยะ 1,000 ตันต่อวัน จากขยะอินทรีย์ราว 60% ของขยะปริมาณกว่า 8.7 พันตันต่อวัน ที่ถูกนำไปแปรเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมักที่ "โรงขยะพันตัน" ณ สถานีขนถ่ายและกำจัดขยะ อ่อนนุช
ขยะอินทรีย์ที่เหลือถูกนำไปฝังกลบ โดยมีต้นทุนเป็นค่าขนส่งและกำจัดขยะที่สูง ถึงตันละ 1 พันบาท ทั้งๆ ที่ทุกคนตระหนัก ดีถึงคุณูปการของขยะอินทรีย์ และก็ยังรู้อีกว่ามีวิธีการจัดการขยะอินทรีย์ที่ง่ายและดีกว่าการฝังกลบและการเผาหลายเท่านัก
นั่นก็คือการใช้สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ในดิน...ตัวหนึ่งคือ จุลินทรีย์ ส่วนอีกตัวก็คือไส้เดือนดิน
ปุ๋ยชีวภาพ ก๊าซชีวภาพ ผลผลิตชั้นดีจากสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋ว
ทั้งนี้ ผลิตผลจากขยะอินทรีย์ที่สามารถสร้างได้ง่ายที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้น "ปุ๋ยหมัก"
ในบางครัวเรือน แค่เพียงกองเศษซากอาหาร เศษพืชผักผลไม้ และกากของเสีย ไว้ใต้ต้นไม้หรือในบ่อหมัก เพียงไม่นาน จุลินทรีย์และขบวนการทางชีวเคมีจะเปลี่ยน แปลงและย่อยสลายอินทรียสารในเศษซากขยะนั้นจนกลายเป็นปุ๋ยชีวภาพที่แทบไม่ต้องลงแรงและลงทุน แต่ให้ธาตุอาหารสูงและยังช่วยปรับดินให้ร่วนซุย
คำแสดรีสอรท์ |
ยกตัวอย่าง คำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท ขนาด 120 ห้อง รองรับแขกกว่า 400 คน แต่ละวันมีขยะเปียกและเศษอาหารถึง 220-350 กก. ในอดีตขยะเหล่านี้ถือเป็นภาระที่ต้องจ่ายค่ากำจัดขยะด้วยวงเงินจำนวนมาก แต่หลังจากโรงแรมหันมาใช้ระบบก๊าซชีวภาพ ขนาด 80 ลบ.ม. เพื่อกำจัดขยะเหล่านี้ โรงแรมก็สามารถประหยัดเงินค่าก๊าซหุงต้มในครัวและส่วนจัดเลี้ยงถึง 680 บาทต่อวัน หรือตก 2.5 แสนบาทต่อปี ทั้งยังได้ปุ๋ยอินทรีย์มาใช้เพาะปลูกพืชผักและต้นไม้ในรีสอร์ตฟรีๆ อีกด้วย
ขณะที่เมืองใหญ่อย่างเทศบาลนครระยองก็มีโครงการนำร่องผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ซึ่งรองรับขยะได้ปริมาณวันละ 60 ตัน โดยผลิตก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่าปีละ 5.1 ล้านหน่วย และขายเข้าระบบได้ถึง 3.8 ล้าน หน่วย คิดเป็นเงินราว 5.8 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังได้ปุ๋ยอินทรีย์กว่า 5.5 พันตันต่อปี คิดเป็นเงินร่วม 5.6 ล้านบาทต่อปี เป็นผลพลอยได้ด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกือบ 15 ล้านตันต่อปี กว่าครึ่งเป็นขยะอินทรีย์ นั่นหมายถึงศักยภาพที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 1,000 ล้านหน่วยต่อปี สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี หรือเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดเล็กๆ 4-5 จังหวัด ดังนั้น ขยะอินทรีย์จึงเรียกได้ว่าเป็นขุมพลังงานข้างบ้านที่ไม่อาจมองข้ามเลยทีเดียว
นอกจากขยะจะถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ช่วยลดโลกร้อน โดยใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างมาก... ขยะยังเป็นพลังงานที่ช่วยทำให้สังคมสะอาดจากการกำจัดขยะและช่วยให้เกิดโลกสีเขียว จากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์
ไส้เดือนดิน...เครื่องจักรชีวะ ย่อยขยะเหม็นเป็น "ขยะหอม"
"โชคชัยสเต็คเฮาส์" ยิ่งเนืองแน่นไปด้วยลูกค้า ปริมาณเศษอาหารก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ปริมาณขยะอินทรีย์สูง สุดสูงกว่า 200 กก.ต่อวัน แม้จะเป็นตัวเลข ที่ดูเยอะ แต่ก็เหมือนจะไม่เพียงพอสำหรับการเป็นอาหารของไส้เดือนดินกว่า 80 กก. (1 กก. มีประมาณ 1-1.2 พันตัว) เครื่องจักรย่อยสลายขยะอินทรีย์ของที่นี่ ซึ่งช่วยให้ฟาร์มโชคชัยสามารถประหยัดค่ากำจัดขยะไปได้ไม่น้อย
ทั้งนี้ การใช้ไส้เดือนดินกำจัดขยะนับเป็นกระบวนการกำจัดขยะที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการย่อยสลายทางชีวภาพที่เร็วและดีที่สุดในโลก
ว่ากันว่า มีการนำไส้เดือนดินมาใช้ในการกำจัดขยะอย่างเป็นทางการครั้งแรกในการจัดกีฬาโอลิมปิกที่ออสเตรเลีย เมื่อปี 2543 โดยใช้ไส้เดือนดินจำนวน 4 แสนตัว ในการกำจัดเศษอาหารมากถึง 75 กก.ต่อวัน
คุณูปการของไส้เดือนดินในการกำจัดขยะอินทรีย์มีอยู่มากมาย อาทิ เครื่องจักรชีวะตัวยาวนี้มีราคาไม่แพงแต่สามารถทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก และไม่มีกระบวนการใช้พลังงานเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งยิ่งนานวันไส้เดือนดินก็เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการกำจัดขยะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับการฝังกลบหรือเตาเผาที่นับวันประสิทธิภาพก็มีแต่จะลดลงเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ไส้เดือนยังช่วยพลิกกลับดินทำให้แร่ธาตุในดินคลุกเคล้า การไชชอนของไส้เดือนยังช่วยทำลายชั้นดินทำให้ดินร่วนซุย และเมื่อไส้เดือนกินเศษอินทรียสารเข้าไปจะย่อยและขับถ่ายออกมากลายเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพดี ช่วยให้ดินมีความสมบูรณ์กว่า ดินทั่วไป 5-10 เท่า
ทั้งนี้ ผลพลอยได้จากการย่อยสลายขยะของไส้เดือน ทั้ง "มูลไส้เดือน" ซึ่งเมื่อนำไปตากแห้งก็กลายเป็นปุ๋ยชีวภาพชั้นดี ตกราคา กก.ละเกือบร้อยบาท และ "น้ำหมักมูลไส้เดือน" ที่วิเศษนัก ทั้งรดต้นไม้ก็ให้ดอกผลงอกงาม ดับกลิ่นเหม็นเน่ากองขยะ หรือกลิ่นฉุนในห้องน้ำก็ได้ผล และบำบัดน้ำเสียตามท่อระบายน้ำก็ยังได้ สนนราคาขวด 750 CC ราคา 40 บาท ขณะที่ตัวไส้เดือนก็ขยายพันธุ์ง่ายแบ่งขายอาจได้ราคาดีถึง 400 บาทต่อ กก.
สำหรับฟาร์มโชคชัย ผลผลิตจากไส้เดือนดินเหล่านี้เกือบทั้งหมดถูกนำกลับมาใช้ปลูกต้นไม้จนเขียวขจีและออกดอกผล สวยงามไปทั้งฟาร์ม ซึ่งก็สามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้มากถึงเดือนละหลายหมื่นบาท
ฟาร์มโชคชัยจะเปิดฟาร์มไส้เดือนดินเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ดูงานอีกจุด เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้นำกลับไปประยุกต์ใช้ที่บ้าน ส่วนปุ๋ยมูลไส้เดือนและน้ำหมักมูลไส้เดือนก็จะกลายเป็นอีกผลิตภัณฑ์ของฟาร์มที่นักท่องเที่ยวจะได้ซื้อหากลับบ้านได้
ไม่ว่าจะเลือกใช้ "เครื่องจักรมีชีวิต" ใดในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ สิ่งสำคัญและเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ การคัดแยกขยะอินทรีย์กับขยะแห้งออกจากกัน และผลพลอยได้ทันทีจากการแยกขยะ นั่นก็คือการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะถูกนำไป ฝังกลบ ก็จะช่วยให้บ่อฝังกลบเต็มช้าลง
ที่สำคัญ ลองคิดดูว่าหากคนไทยทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีคิดในการจัดการกับขยะอินทรีย์ ซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งของขยะเกือบ 15 ล้านตันต่อปีประเทศชาติจะประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะได้มากเพียงใด นี่ยังไม่นับว่าเมืองไทยจะน่าอยู่เพิ่มขึ้นขนาดไหน... หากปริมาณขยะลดลงแต่กลับมีพื้นที่สีเขียวจากปุ๋ยหมัก และปุ๋ยชีวภาพเพิ่มขึ้นและใช้พลังงานฟอสซิลลดลง แต่ใช้พลังงานขยะซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดกันมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น