วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ขั้นตอนการทำนาข้าวอินทรีย์

 ขั้นตอนการทำนาข้าวอินทรีย์ 

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมพันธุ์ข้าว การคัดเลือกพันธุ์ข้าว
1. คัดเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ข้าวพันธุ์ ก.ข.6 จะชอบพื้นที่ในลุ่มมีน้ำขังตลอด ตั้งแต่ปักดำจนถึงออกรวงและมีแป้ง จึงจะปล่อยน้ำออกจากคันนาได้และได้ผลผลิตดีแต่ถ้าเป็นข้าวหอมมะลิจะขึ้นได้ ดีในทุกพื้นที่ แต่ต้องให้มีน้ำขัง เนื่องจากการทำนาสิ่งสำคัญ คือ ต้องมีน้ำ
2. การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว คัดเลือกแปลงข้าวที่มีต้นข้าว รวงข้าว เมล็ดข้าวที่โตแข็งแรง เมล็ดข้าวแก่จัดเมล็ดข้าวมีความสมบูรณ์ ถอนออกเป็นรวง ๆ ที่สมบูรณ์ที่สุด เก็บไว้ต่างหาก แล้วนำมาแยกเมล็ดข้าวและฟางข้าวออกจากกัน จากนั้นนำเมล็ดมาฝัด เมื่อคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ออก แล้วนำเมล็ดข้าว ที่คัดเลือกว่าดีแล้วตากแห้ง แล้วเก็บไว้ ทำพันธุ์ในปีต่อไป
กล้าข้าวอินทรีย์


ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมพื้นที่ทำนา
1. การเตรียมคูคันนา การทำนาจะต้องเตรียมคูคันนาให้มีความสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร ความหนา 60-80 เซนติเมตร เพื่อกักเก็บน้ำ เพราะข้าวจะขาดน้ำไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำขังจะเกิดวัชพืชในน้ำข้าว ทำให้ข้าวเจริญเติบโตช้าเสียเวลาในการกำจัดวัชพืช คันนาควรใส่ท่อระบายน้ำเพราะถ้าช่วงแรกในการปักดำไม่ควรให้ระดับน้ำสูง มากกว่า 10 เซนติเมตร เพราะต้นข้าวยังไม่แข็งแรงพอ ถ้ามีน้ำในแปลงนามาก จะทำให้ต้นข้าวเน่าได้ ควรมีท่อระบายน้ำออก
2. ปรับพื้นที่ในคันนาให้มีระดับเท่ากัน อย่าให้มีน้ำเอียงด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อจะได้ขังน้ำอยู่ระดับเดียวกัน ถ้าหากพื้นที่นามีความลุ่ม มีระดับพื้นที่ในระดับเดียวกัน ก็ไม่มีความจำเป็นในการปรับพื้นที่
ขั้นตอนที่ 3 หลัง จากฤดูกาลเก็บเกี่ยวเสร็จ พื้นที่นายังมีฟางข้าว มีหญ้า ควรนำปุ๋ยหมัก จุลินทรีย์ หว่านทั่วไป โดยคิดเฉลี่ย 200 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ แล้วฉีดพ่นด้วยน้ำยาจุลินทรีย์ให้ทั่ว แล้วไถกลบฟางข้าว จุลินทรีย์จะช่วยย่อยสลายฟางข้าว ให้เน่าเปื่อย ทำให้ดินร่วนซุย เป็นอาหารของข้าวต่อไป สำหรับขั้นตอนนี้ควรทำในช่วงเดือนธันวาคม เพราะในช่วงนี้เป็นหน้าหนาว มีหมอกลงเหมาะในการขยายตัวของเชื้อจุลินทรีย์
ขั้นตอนที่ 4 นำ น้ำจุลินทรีย์มาหมักเมล็ดข้าว โดยให้น้ำจุลินทรีย์ ท่วมเมล็ดข้าว หากมีเมล็ดข้าวฟูน้ำ ให้เก็บออกให้หมด ควรแช่เมล็ดข้าวประมาณ 2-3 วัน แล้วนำขึ้นจากน้ำมาพักไว้ สัก 1 วัน แล้วนำมาหว่านในแปลงที่เตรียมไว้
ขั้นตอนที่ 5 การเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะข้าว
พอถึงฤดูการทำนา ถ้าหากปีไหนฝนดี คือ ฝนตกในช่วงเดือนมิถุนายน ควรเตรียมพื้นที่สำหรับกล้าพันธุ์ข้าว คือ เตรียมแปลงสำหรับเพาะพันธุ์ข้าว ซึ่งมีหลักพิจารณาดังนี้
1. ที่ดินร่วนซุย
2. อยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น สระน้ำ หนองน้ำ ถ้าหากฝนทิ้งช่วง จะได้อาศัยน้ำจากแหล่งน้ำได้
วิธีเตรียมแปลงเพาะกล้าพันธุ์ข้าว
1. ที่มีน้ำขังพอที่จะหว่านกล้า เราก็ไถและคราดดินให้ร่วนซุย และระดับพื้นเสมอกัน ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วนำเมล็ดข้าวที่เตรียมไว้มาหว่าน อย่าให้หนาหรือห่างจนเกินไป
2. ประมาณ 10-15 วัน ต้นกล้าตั้งหน่อได้แข็ง นำน้ำจุลินทรีย์ ผสมน้ำพ่นต้นกล้าโดยผสมน้ำจุลินทรีย์ 3 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วแปลงกล้า
3. ขังน้ำใส่ต้นกล้า อย่าให้ขาดจากแปลงกล้า
4. ก่อนจะถอนกล้า 5 วัน ให้น้ำจุลินทรีย์พ่นอีก เพื่อจะได้ถอนง่าย เพราะรากจะฟู
นาข้าวอินทรีย์



ขั้นตอนที่ 6 การปักดำ
ในช่วงก่อนการปักดำ เราควรขังน้ำไว้ในนา เพื่อจะทำให้ดินนิ่ม ดินไม่แข็ง ง่ายในการไถดำ เราควรจะกักน้ำเอาไว้
1. พอถึงเวลาดำนา เราควรปล่อยน้ำที่ขังออกจากคันนา ให้เหลือไว้ประมาณ 10-15 เซนติเมตร อย่าให้น้ำมากหรือน้อยจนเกินไป ถ้าน้ำมากจะทำให้ข้าวเปื่อย ถ้าน้ำน้อย หากฝนขาดช่วงจะทำให้ข้าวขาดน้ำ เพราะการทำนายังอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติจึ่งเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
2. ไถน้ำและคราดที่นาให้ดินร่วนซุย และนำต้นกล้ามาปักดำ ซึ่งกำหนดความห่างระหว่างต้นให้ห่างประมาณ 40 เซนติเมตร เพื่อให้แตกกอได้ดีและใส่ต้นกล้า กอละประมาณ 2-3 ต้นกล้า
3. เมื่อปักดำประมาณ 15 วัน นำจุลินทรีย์ไปผสมน้ำพ่นต้นข้าวในนา เพื่อกระตุ้นเชื้อจุลินทรีย์ที่หว่านตอนเตรียมดิน และจะทำให้ต้นข้าวแข็งแรงเติบโต และทนต่อศัตรูข้าว
4. คอยหมั่นดูแลต้นข้าว และดูแลระดับน้ำอย่าให้ขาดในนาข้าว หมั่นรักษาไม่ให้วัชพืชขึ้นในนาข้าว และพ่นจุลินทรีย์ในทุก ๆ 20 วัน จนถึงข้าวตั้งท้องแล้วจึงงดการพ่นจุลินทรีย์ แต่ยังคงรักษาระดับน้ำในคันนาอย่าให้ขาด
5. พอข้าวแก่พอสมควรก็ปล่อยน้ำจากคันนา และเตรียมเก็บเกี่ยวต่อไป
ประโยชน์การทำนาข้าวอินทรีย์
1. ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตมากขึ้น เพราะการให้ปุ๋ยจุลินทรีย์จะทำได้ผลผลิต 800 กิโลกรัมต่อไร่ โดยต้นทุนในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพียงแค่ประมาณ 200 บาท ต่อไร่ โดยอาจจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากในตอนแรก แต่จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อสภาพดินดีแล้ว ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีจะได้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ โดยต้นทุนการผลิตประมาณ 400 บาท ต่อไร่ และต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยให้มากขึ้นในทุก ๆ ปี
2. ได้สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์กลับคืนมา ดินร่วนซุย รากข้าวชอนไชหาอาหารง่าย กบ กุ้ง ปลา ชุกชุม มีสุขภาพชีวิตที่ดี มีอาหารปลอดสารพิษไว้บริโภค


ข้อมูลจาก:ทางด่วนข้อมูลทางการเกษตร 
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.นครศรีธรรมราช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น